หลักการทำบัญชี-ภาษีที่กิจการควรรู้หลังจดบริษัท

  • #
  • #
  • #
  • #

การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

กฎเกณฑ์แรกที่เจ้าของธุรกิจต้องพึงปฏิบัติ คือเรื่องการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีรายได้ ทั้งที่อยู่ในรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” หรือจดบริษัทเป็น “นิติบุคคล” ตั้งแต่ยังมีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท เมื่อมีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีเมื่อไหร่ ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนบริษัทนิติบุคคลที่จดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตั้งแต่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทอยู่แล้ว ก็หมดกังวลเรื่องนี้ได้ 

ส่วนกิจการที่ยังไม่ได้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป แต่ถ้าหากมีรายได้ตลอดทั้งปีเท่ากับ 1.8 ล้านบาทพอดี ก็ยังไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากยังไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด 

ยกเว้นธุรกิจประเภทก่อสร้างโรงงาน สำนักงาน, การติดตั้งเครื่องจักร กฎหมายบังคับให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เริ่มกิจการ โดยยื่นจดภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 6 เดือน ก่อนเปิดกิจการ นอกจากนี้ยังมีรายได้บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่นำมานับรวมเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

– การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลทั้งราชการและเอกชน

– การให้บริการสถานศึกษา ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์

– ธุรกิจจำหน่ายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตภายในประเทศ

– ธุรกิจจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรภายในประเทศ

– ธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง

ในบางรายที่ทำทั้งงานประจำและมีรายได้จากการทำธุรกิจของตนเองด้วย จะนำแค่รายได้จากการประกอบธุรกิจนอกเหนือจากเงินเดือนมาคิดเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบวิธีการคำนวณว่าตนเองมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทหรือยัง ได้จากบทความ จดภาษีมูลค่าเพิ่มตอนไหนดี และใครที่ควรจดบ้าง  

กระทั่งคำนวณแล้วพบว่ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องรีบไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หากปล่อยให้เนิ่นนานเลยกำหนด 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท แบบนี้ถ้ากรมสรรพากรตรวจสอบพบ จะต้องเสียค่าปรับนับตั้งแต่วันแรกที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้าน จนถึงวันที่ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือสรรพากรตรวจพบ โดยต้องเสียเบี้ยปรับตั้งแต่ 2-20% และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน

 

เปิดร้านออนไลน์ ขายของต้องเสียภาษี

โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มักไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ทราบว่า เปิดร้านออนไลน์ขายของต้องเสียภาษีด้วย จึงทำให้อาจละเลยไปบ้าง ซึ่งตามหลักการนอกจากผู้ที่ทำการค้าขายออนไลน์จะต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทแล้ว ยังมีภาษีอื่นๆ รวมถึงข้อควรพิจารณาเพิ่มเติม ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้องดังนี้

1. ภาษีเงินได้ โดยแบ่งได้ตามรูปแบบของธุรกิจคือ 

1.1 บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องเสียทุกปี มีวิธีการคำนวณ 2 แบบ คือ

1) (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

2) รายได้ x 0.5% วิธีนี้จะใช้สำหรับรายได้ที่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี 

แล้วนำมาเปรียบเทียบทั้ง 2 แบบ หากแบบไหนได้ตัวเลขมากกว่าให้ใช้แบบนั้นนำไปยื่นภาษี

1.2 นิติบุคคล หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่จดบริษัทอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล มีวิธีการคำนวณภาษีคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 

แต่เนื่องจากการค้าขายสินค้าออนไลน์ จะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ทั้งแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และแบบจดบริษัทเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวิธีการคำนวณภาษีเงินได้แตกต่างกัน จะต้องนำค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนต่างๆ มาร่วมคำนวณภาษีด้วย ดังได้อธิบายไว้ในบทความ รู้ก่อนวางแผน… ภาษีแม่ค้าออนไลน์ ยังไงให้เป๊ะ! 

2.ภาษีออนไลน์ E-PAYMENT เป็นการส่งข้อมูลยอดเงินของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารทั้งที่เปิดแบบบุคคลธรรมดา และจดบริษัทเป็นนิติบุคคลให้แก่สรรพากร  

3.จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการจดทะเบียนธุรกิจสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจออนไลน์ มีการชำระเงินในรูปแบบออนไลน์ตามแพลตฟอร์มนั้นๆ และมีร้าน เพจ เว็บไซต์เป็นของตัวเอง ซึ่งสามารถเช็กเงื่อนไขได้จากบทความ >ทะเบียนพาณิชย์ กับ ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต่างกันอย่างไร  

4.หากเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ซื้อมาขายไป เวลาซื้อของต้องขอใบกำกับภาษีทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับใช้ยื่นภาษีสรรพากร

5.ควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้โดยตลอด เพื่อให้ทราบรายละเอียดในแต่ละธุรกรรมของธุรกิจที่ทำ

6.รายรับรายจ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ ควรแยกบัญชีออกมาต่างหาก และเปิดบัญชีธนาคารในชื่อบริษัท ซึ่งสามารถวางแผนภาษีขายของออนไลน์ได้จากบทความ ภาษีขายของออนไลน์ 

หลักการเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา

วิธีการยื่นแบบฯ ภาษีออนไลน์บุคคลธรรมดา สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มจากเข้าหน้าเว็บไซต์กรมสรรพากร จะเจอข้อความที่เขียนว่า “ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้กดเข้าไป จะเจอหน้า “ยื่นภาษีและชำระภาษีออนไลน์” สำหรับคนที่ยังไม่เคยยื่นภาษีให้กด “สมัครสมาชิก” และกรอกข้อมูลส่วนตัวก่อน 

ส่วนคนที่มี Username Password อยู่แล้วให้กด “เข้าสู่ระบบ” ได้เลย จากนั้นทำตามขั้นตอนต่างๆ ที่ระบบแจ้งจนเสร็จสิ้น หรือดูตัวอย่างการยื่นแบบฯ ภาษีแต่ละขั้นตอนได้จากบทความ 10 Step ยื่นภาษีออนไลน์ บุคคลธรรมดา ระบบ E-Filing โฉมใหม่