หลักการทำบัญชี-ภาษีที่กิจการควรรู้หลังจดบริษัท

สิ่งที่กิจการต้องทำ หลังจดบริษัทเป็นนิติบุคคล

หลังจากจดบริษัทเป็นนิติบุคคล กิจการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการดังนี้

1.เปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท แยกออกจากบัญชีส่วนตัวให้ชัดเจน

2.ขึ้นทะเบียนลูกจ้าง ถ้าหากมีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยมีการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือน กิจการต้องไปขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงาน ที่สำนักงานประกันสังคม และนำส่ง ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก ในกรณีที่กิจการมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้สำหรับเงินเดือนของพนักงานที่ถึงเกณฑ์กำหนด (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัญชีเงินเดือนที่ควรทราบได้จากบทความ บัญชีเงินเดือน ที่เจ้าของกิจการควรรู้ )

3.จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับกิจการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท หรือจดภาษีมูลค่าเพิ่มหลังจากจดบริษัทนิติบุคลเลยก็ได้ แต่ในกรณีที่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตั้งแต่ก่อนจดบริษัทนิติบุคคล ก็สามารถดำเนินกิจการต่อได้เลย

4.เอกสารค่าใช้จ่ายของกิจการ ซื้อของทุกอย่างในนามบริษัทเท่านั้น และให้ออกเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หรือบิลเงินสดที่มีชื่อ ที่อยู่ของผู้ขาย และต้องระบุชื่อบริษัทของเราด้วย  

5.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในฐานะที่กิจการเป็นผู้จ่ายเงิน ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ส่วนหนึ่ง ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ตามอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย  0-5% แตกต่างกันตามประเภทเงินที่จ่าย

6.เตรียมเอกสารทางบัญชี ภาษี ในช่วงแรกที่เริ่มดำเนินกิจการรูปแบบนิติบุคคล กิจการอาจใช้วิธีรวบรวมเอกสารทั้งรายรับและรายจ่ายของกิจการทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อสรุปข้อมูลและนำส่งภาษีเอง แล้วค่อยส่งให้สำนักงานบัญชีสรุปบัญชี ตรวจสอบงบการเงิน และยื่นภาษีที่เกี่ยวข้องของกิจการ หลังจากสิ้นปีแทนกิจการ (ทำบัญชีและปิดงบรายปี) หรืออาจจะเลือกจ้างสำนักงานบัญชีเพื่อบันทึกบัญชีและนำส่งภาษีให้กิจการเป็นรายเดือน (บริการบัญชีรายเดือน) เลยก็ได้เช่นกัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเจอ… หลังจดทะเบียนบริษัท  

นอกจากกิจการจะต้องไปจดภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ส่วนหนึ่งเมื่อมีการจ่ายเงินแล้ว ยังมีภาษีอื่นๆ ที่กิจการควรทราบคือ

 

1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

2.ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีบริษัทประเภทที่จัดเก็บเฉพาะบางธุรกิจที่กฎมายกำหนดไว้พิเศษ

3.อากรแสตมป์ เป็นภาษีบริษัทที่จัดเก็บในรูปของดวงแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการและหนังสือสัญญาต่างๆ ซึ่งได้อธิบายไว้ในบทความ ภาษีบริษัท ที่ต้องรู้มีอะไรบ้าง 

หลักการยื่นภาษีนิติบุคคล

กฎหมายกำหนดให้ยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ช่วง คือ                       

– ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือน

แรกของรอบระยะเวลาบัญชี

– ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบ

ระยะเวลาบัญชี

โดยวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จะใช้สูตรคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท + รายได้ทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท ดังนี้

กำไร 300,000 บาทแรก                =          ยกเว้นภาษี

กำไร 300,001 – 3 ล้าน                 =          ภาษี 15%

กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป        =          ภาษี 20%

แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ให้จัดอยู่ในอัตราภาษีเท่ากับ 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรก ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล  

และเนื่องจากสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลบออกจากรายได้ ทำให้เหลือกำไรสุทธิน้อยลง ส่งผลให้เสียภาษีน้อยลงตามไปด้วย 

แนวทางประหยัดภาษีนิติบุคคล

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นอีกหนึ่งเรื่องภาษีที่นิติบุคคลต้องทำความเข้าใจ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการทำบัญชีที่สำคัญ อย่างที่เกริ่นไปบ้างแล้วว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องหักไว้ก่อนจ่ายเงิน ให้กับผู้รับทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จากนั้นนำเงินที่หักไว้ส่งให้สรรพากรภายในวันที่ 7-15 ของทุกเดือน         

ยกเว้นหากสินค้าหรือบริการยอดเงินไม่ถึง 1,000 บาทในการจ่ายเงินแต่ละครั้ง ผู้จ่ายไม่ต้องหักภาษี แต่ถ้าหากมีการจ่ายอย่างต่อเนื่องแม้ยอดเงินแต่ละครั้งจะไม่ถึง 1,000 บาท ผู้จ่ายจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย อยู่ดี เช่น ค่าบริการโทรศัพท์ต้องจ่ายทุกเดือน ถึงแม้ยอดแต่ละครั้ง ไม่ถึง 1,000 บาท แต่รวมกันหลายยอดแล้วเกิน 1,000 บาท

โดยผู้รับเงินจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีที่กำหนดแต่ละประเภท ยิ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเยอะเท่าไร เมื่อยื่นภาษีสิ้นปีปรากฏว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ก็สามารถยื่นขอเงินคืนได้ หรือในกรณีที่ยื่นภาษีแล้วต้องมีการจ่ายภาษีเพิ่ม ก็จะช่วยให้จ่ายน้อยลงเนื่องจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปบางส่วนแล้ว ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระในการจ่ายภาษีของผู้มีรายได้

ส่วนผู้ที่จ่ายเงิน ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทันทีทุกครั้งก่อนจ่ายเงินให้กับผู้รับ ถ้าไม่หักหรือยื่นส่งสรรพากรไม่ตรงตามความเป็นจริง จะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย และยังมีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่ต้องจ่ายหากหักไว้ไม่ครบ ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร? ทำไมก่อนจดบริษัทไม่เคยเจอ 

วิธีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายจะต้องหักตามอัตราภาษีที่กำหนดแต่ละประเภท ซึ่งประกอบด้วย

1.ค่าจ้างและเงินเดือน ถ้าเงินได้สุทธิของพนักงานทั้งปี ไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือต่ำสุด 0%    

2.จ้างทำงานหรือบริการ เช่น นายหน้าขายของ ได้ส่วนแบ่งค่าคอม จะใช้วิธีคำนวณเหมือนค่าจ้างและเงินเดือน หักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำสุด 0%

3.จ้างบริการวิชาชีพอิสระ บริษัทผู้ว่าจ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งภาษีในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย 6 วิชาชีพเท่านั้น คือ

1) โรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม

2) ประณีตศิลป์

3) สถาปนิก

4) วิศวกร

5) นักบัญชี

6) ทนายความ  

4.จ้างรับเหมาหรือบริการ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เช่น การจ้างผลิตสินค้า จ้างทำนามบัตร จ้างรีวิวสินค้า ทำกราฟิก รวมถึงค่าอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ (ต่างจากจ้างทำงาน หรือบริการ ตรงที่จ้างรับเหมา หรือบริการ ผู้ถูกจ้างจะต้องใช้หรือไปหาอุปกรณ์ของตัวเองมาเพื่อดำเนินการตามสิ่งที่ได้รับการว่าจ้าง)

5.ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์  ถ้าหากเป็นคนถือกุญแจเอง จะนับเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทผู้ให้เช่าจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

6.ค่าโฆษณา หากต้องการทำโฆษณาเพื่อโปรโมตแบรนด์ บริษัทของตนเอง โดยจ้างผ่านบริษัทรับทำโฆษณา เอเจนซี่ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 2%

7.ค่าขนส่ง สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล และให้บริการด้านการขนส่ง จะต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการขนส่งด้วย ซึ่งจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1%

โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมแบบละเอียดได้จากบทความ  ภาษี หัก ณ ที่จ่าย แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร

ในกรณีที่กิจการเป็นผู้จ่ายเงิน เมื่อหักภาษีไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ก่อนจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน จะต้องทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้ด้วย โดยจะต้องทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ถูกต้อง รายละเอียดต่างๆ ในเอกสาร ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้

วิธีการจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดดังนี้

1.ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี/เลขประจำตัวประชาชนของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย  

2.ต้องระบุเลขที่/เล่มที่ ในหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย แต่ถ้าออกด้วยคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องระบุหมายเลขลำดับของเล่มได้    

3.หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ต้องมีข้อความแต่ละฉบับตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด คือ

– ฉบับที่ 1 มีข้อความกำกับว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายใช้แนบพร้อมกับการแสดงรายการ”

– ฉบับที่ 2 ใช้สำหรับให้ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐาน

4.ลำดับที่ในแบบ ภ.ง.ด.1ก. , ภ.ง.ด.1ก พิเศษ , ภ.ง.ด.2ก , ภ.ง.ด.3ก  

– กรณียื่นรายการการจ่ายเงินได้พึงประเมินประจำปีที่ต้องยื่นแบบดังกล่าว เช่น การจ่ายเงินเดือน  ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป

– ส่วน ภ.ง.ด.2 , ภ.ง.ด.3 , ภ.ง.ด.53 แบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นทุกเดือน

5.รายการประเภทเงินได้พึงประเมิน ในหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย จะมีช่อง “ประเภทเงินได้พึงประเมิน” ให้กรอก จะต้องระบุว่า “เป็นเงินได้ประเภทใด”       

ทั้งนี้ สามารถกรอกข้อมูลได้ทั้งการเขียนและการพิมพ์ แต่ที่สำคัญข้อมูลที่กรอกในหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ต้องกรอกให้อ่านเข้าใจง่าย ตามตัวอย่างในบทความ การจัดทำ หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย